วันศุกร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2557

หน่วยเเสดงผล

หน่วยแสดงผล (Output Unit) 

หน่วยแสดงผล คือ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงผลลัพธ์หรือสารสนเทศที่ผ่านการประมวลผล โดยจะแปลงผลลัพธ์จากสัญญาณไฟฟ้าของเครื่องคอมพิวเตอร์ให้กลายเป็นรูปแบบที่มนุษย์เข้าใจ เช่น ตัวอักษร ตัวเลข สัญลักษณ์พิเศษ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว และเสียง เป็นต้น อุปกรณ์หน่วยแสดงผลที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีดังนี้ 


        1. แสดงผลทางบนจอภาพ (Monitor) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการแสดงผลลัพธ์ในรูปตัวอักษร ตัวเลข ภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวได้ในขณะที่เปิดเครื่องคอมพิวเตอร์เท่านั้น แต่เมื่อปิดเครื่องคอมพิวเตอร์จะไม่สามารถเห็นผลลัพธ์ได้ จอภาพอาจเรียกว่าหน่วยแสดงผลชั่วคราว จอภาพที่นิยมใช้ในปัจจุบันมีหลายชนิด ได้แก่ 


                   1.1 จอซีอาร์ที (CRT : Cathode Ray Tube Monitor) เป็นจอภาพที่มีรูปร่างขนาด และเทคโนโลยีเดียวกับโทรทัศน์ กล่าวคือ เป็นเทคโนโลยีที่มีหลักการทำงานโดยการยิงลำแสงผ่านหลอดแก้ว แสดงผลขนาดใหญ่ที่เรียกว่า หลอดรังสีแคโทด ซึ่งทำให้มีแสงมายังตากของผู้ใช้ค่อนข้างมาก 



จอซีอาร์ที


                   1.2 จอแอลซีดี (LCD : Liquid Crystal Display Monitor) เป็นจอภาพแบบแบน และใช้เทคโนโลยีการเรืองแสงของผลึกเหลว หรือ liquid crystal จึงทำให้ประหยัดพลังงานไฟฟ้าและแสงที่ส่องมายังตาผู้ใช้น้อย จึงทำให้ถนอมสายตาได้มากกว่าจอซีอาร์ที จอแอลซีดีแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้ 

                    1) จอทีเอฟที (TFT : Thin film Transistor) หรือแอคทีปเมทริกซ์ เป็นหน้าจอที่มีการตอบสนองต่อการแสดงผลที่ค่อนข้างไว ประมวลผลการทำงานได้รวดเร็ว ทำให้การแสดงผลมีความละเอียด สว่างและมีความคมชัดมาก มักจะนำไปใช้ในโน้ตบุ๊ก เครื่องพีดีเอ กล้องดิจิตอล เป็นต้น 


จอทีเอฟที


                     2) จอพาสซีพเมทริกซ์ (passive matrix) เป็นจอภาพที่ให้ความสว่างและความคมชัดน้อยกว่าจอทีเอฟที มักจะนำไปใช้เป็นจอโทรศัพท์มือถือทั่วไป หรือจอของเครื่องพาล์มท็อบคอมพิวเตอร์ สีขาวดำ 



จอพาสซีพเมทริกซ์



                      1.3 จอพลาสมา (plasma monitor) เป็นจอภาพที่มีเทคโนโลยีที่ให้มุมมองจอภาพที่กว้างถึง 160 องศา มีความสว่างและคมชัดมากกว่าจอแอลซีดี สามารถแสดงภาพเคลื่อนไหวเร็ว ๆ ได้ดี จึงเหมาะกับการใช้รับชมภาพยนตร์และกีฬาเป็นอย่างมาก 



จอพลาสมา


การเลือกซื้อจอภาพ 


        1. ควรเลือกประเภทของจอภาพที่เหมาะสมกับการใช้งาน หากต้องใช้คอมพิวเตอร์ติดต่อกันเป็นเวลานานประมาณ 4-8 ชั่วโมง ควรเลือกภาพแอลซีดี 


        2. ควรเลือกจอภาพที่มีขนาดที่เหมาะสมกับการใช้งาน ปัจจุบันมีมาตรฐานอยู่ 2 ขนาดที่ได้รับความนิยม คือ 15 นิ้ว และ 17 นิ้ว ข้อดีของจอ 17 นิ้ว คือ เหมาะสำหรับงานออกแบบกราฟิก เพราะมีพื้นที่มากกว่าแต่มีราคาสูงกว่าจอ 15 นิ้ว 


        3. ควรเลือกจอภาพที่มีศูนย์บริการและมีการรับประกัน 


การดูแลรักษาจอภาพ 


        1. การเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ ควรเปิดจอภาพก่อนจึงเปิดที่ case เครื่อง และไม่ควรเปิด ปิดเครื่องติด ๆ กัน ควรพักเครื่องไว้ประมาณ 5-10 นาที ก่อนเปิดเครื่องใหม่ เพราะการเปิดปิดเครื่องติด ๆ กันอาจทำให้การทำงานของเครื่องผิดปกติและเครื่องอาจค้างได้ 


        2. ควรปรับความสว่างของจอภาพให้เหมาะสมกับแสงสว่างของห้องทำงานและสภาพการทำงาน เพราะถ้าปรับแสงสว่างของจอภาพมากเกินไป จะทำให้จอภาพมีอายุการใช้งานสั้นลง 


        3. ควรตั้งโปรแกรมถนอมจอภาพเพื่อยืดอายุการใช้งานจอภาพให้ยาวนานขึ้น 



            2. แสดงผลทางเครื่องพิมพ์ 


            เครื่องพิมพ์ (printer) เป็นอุปกรณ์ที่แสดงผลลัพธ์ในรูปข้อมูล รายงาน รูปภาพ ลงบนกระดาษ ซึ่งสามารถสัมผัสและเก็บรักษาไว้ได้นาน เครื่องพิมพ์อาจเรียกว่า หน่วยแสดงผลถาวร ในปัจจุบันเครื่องพิมพ์มีหลายชนิด ดังนี้ 


            2.1 เครื่องพิมพ์ฉีดหมึก (inkjet printer) เครื่องพิมพ์ชนิดนี้นิยมใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล เพราะมีราคาไม่แพงมากนัก หลักการพิมพ์ใช้วิธีฉีดพ่นหยดหมึกเล็ก ๆ ให้ติดกับกระดาษ มีข้อดีคือทำให้หยดหมึกไม่แพร่กระจายหรือซึมรวมกัน หมึกพิมพ์แบบสีต้องใช้แม่สีซึ่งบรรจุอยู่ในตลับสามสี ปกติการใช้งานสีแต่ละสีจะหมดไม่พร้อมกัน ถ้าสีใดสีหนึ่งหมดจะส่งผลทำให้เครื่องพิมพ์ไม่ทำงาน ดังนั้นบางบริษัทจึงแยกหมึกพิมพ์แต่ละสีออกจากกัน เพื่อให้เป็นอิสระในการเปลี่ยนสีเพื่อความประหยัด บางรุ่นอาจแยกหมึกสีดำออกมาต่างหากสำหรับการพิมพ์สีดำอย่างเดียว ส่วนใหญ่หมึกพิมพ์แบบฉีดหมึกจะมีราคาแพงเมื่อเทียบค่าเฉลี่ยกับจำนวนแผ่นงานที่พิมพ์ แต่ให้ผลงานที่มีความสวยงาม คมชัดมากกว่า จะเหมาะกับงานที่ต้องการความประณีตสวยงาม 




เครื่องพิมพ์ฉีดหมึก 


            2.2 เครื่องพิมพ์เลเซอร์ (Laser printer) ทำงานคล้ายกับเครื่องถ่ายเอกสาร โดยใช้แสงเลเซอร์สร้างประจุไฟฟ้าบวกบนแผ่นกระดาษที่เคลื่อนผ่าน ผงหมึกที่มีประจุลบจุถูกดูดกับประจุบวก จากนั้นลูกกลิ้งร้อนจะช่วยให้หมึกติดกับกระดาษ เครื่องพิมพ์เลเซอร์มีความเร็วในการพิมพ์สูงและมีต้นทุนการพิมพ์เฉลี่ยต่อแผ่นถูกกว่าเครื่องพิมพ์ฉีดหมึก จึงเหมาะกับงานที่ต้องพิมพ์ปริมาณมาก เช่น สำนักงาน สถานศึกษา ร้านถ่ายเอกสาร เป็นต้น 



เครื่องพิมพ์เลเซอร์


การเลือกซื้อเครื่องพิมพ์ 


        1. ควรเลือกเครื่องพิมพ์ที่เหมาะกับลักษณะของงานที่ต้องการ ถ้าเป็นงานพิมพ์เอกสารจำนวนมาก ควรเลือกเครื่องพิมพ์เลเซอร์ และถ้าเป็นงานพิมพ์ที่มีจำนวนไม่มากและต้องการงานพิมพ์ที่มีคุณภาพ ควรเลือกใช้เครื่องพิมพ์ฉีดหมึก 


        2. ควรเลือกเครื่องพิมพ์ที่มีศูนย์บริการและการรับประกัน 


การดูแลรักษาเครื่องพิมพ์ 


        1. ควรเลือกใช้กระดาษที่ได้คุณภาพและขนาดไม่ควรหนาเกินกว่า 90 แกรม 


        2. ควรเก็บตลับหมึกไว้ในที่ปราศจากฝุ่นและในที่มีอุณหภูมิไม่สูง 


        3. ควรเปิดเครื่องพิมพ์ทำงานอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง โดยเฉพาะเครื่องพิมพ์ฉีดหมึก เพื่อป้องกันหัวฉีดของเครื่องพิมพ์อุดตัน 




    1.3 ลำโพง 


            ลำโพง (speaker) เป็นอุปกรณ์ที่แสดงผลลัพธ์รูปแบบเสียง ซึ่งส่วนใหญ่จะให้มาพร้อมกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ลำโพงมี 2 ชนิด ดังนี้ 


        1. ลำโพงแบบขยายเสียงในตัว จะมีปุ่มสำหรับปรับเสียง ได้แก่ ปุ่ม volume สำหรับปรับความดังของเสียง ปุ่ม base สำหรับปรับระดับความดัง เสียงทุ้ม และปุ่ม treble สำหรับปรับระดับความดังของเสียงแหลม 


        2. ลำโพงแบบไม่มีวงจรขยายเสียง จะมีกรวยของลำโพงที่ใช้ภายในตัวลำโพง (speaker) ขนาดเล็กประมาณ 2 นิ้ว ลำโพงชนิดนี้จะต้องใช้การ์ดเสียงที่มีวงจรขยายเสียงสำหรับขยายเสียงออกลำโพง 




การเลือกซื้อลำโพง 


        1. ควรทดสอบฟังเสียงก่อน การทดสอบนั้นควรเปิดระดับดังที่สุดและเบาที่สุดเพื่อฟังความคมชัดของเสียง 


        2. ควรเลือกลำโพงที่มีศูนย์บริการและการรับประกัน 


การดูแลรักษาลำโพง 


        1. ควรทำความสะอาดด้านหน้าลำโพง โดยการใช้ไม้ปัดฝุ่นหรือเครื่องดูดฝุ่นขนาดเล็ก 


        2. ควรเปิดเสียงในระดับปานกลาง หรือร้อยละ 80 จะช่วยยืดอายุการใช้งานให้ยาวนานขึ้น เพราะถ้าเปิดดังเกินไป อาจทำให้ลำโพงเกิดความเสียหายได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น